นับแต่ประเทศไทยนิยามความหมายของคำว่า “วรรณกรรม” การรวมตัวเป็น “กลุ่ม” หรือ “ชมรม” เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวด้านวรรณศิลป์ก็อุบัติขึ้นอย่างเป็นขั้นบันได ไม่ว่าจะเพื่อสรวลเสเฮฮา หรือเพื่อยกระดับสวัสดิการนักเขียน แต่สิ่งหนึ่งที่กลุ่มวรรณกรรมมีความเหมือนกันก็คือ การรวมตัวเพื่อสร้างสรรค์สังคมด้วยการถ่ายทอดผ่านตัวอักษร จนกลายเป็น “ตำนาน” ตราบถึงปัจจุบัน หนังสือ หนุ่มเหน้าสวยสาว รวมข้อเขียนจากมติชนสุดสัปดาห์ของ “ณรงค์ จันเทร์เรือง” จึงตั้งใจเรียบเรียงเพื่อขยายความให้เห็นความเป็นมาของการรวมกลุ่มเพื่อสรรค์สร้างงานวรรณกรรม อันมี “หัวขบวน” เป็นกลุ่มนักเขียนร่วมสมัย อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน, เสถียร จันทิมาธร, สุวรรณี สุคนธา รวมถึวตัวผู้เขียนเอง ได้ร่วมกัน “สังสรรค์” และ “สร้างสรรค์” แม้กระทั่งร่วมกันออกหนังสือด้วยกัน เพื่อสะท้อนตัวตนและเอกลัษณ์ของกลุ่ม ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังสร้างปรากฏการณ์ด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่ก้าวหน้า ทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการก่อร่างสำนักหนังสือพิมพ์ตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งแม้ตราบจนปัจจุบันก็ยังไม่มี “กลุ่มวรรณกรรม” กลุ่มใดแข็งแกร่งและทรงอิทธิพลทางความคิดเหนือกลุ่มทางวรรณกรรมในยุคนั้น เนื่องเพราะพวกเขาล้วนมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการร่วมกันก่อร่างความคิดผ่านงานเขียนเพื่อปลูกสร้างสังคมที่ดีกว่า